สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี 2001 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นที่น่าจับตามองและเป็นประเทศที่น่าลงทุนทางธุรกิจในหลายๆด้าน แต่ระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีนเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงพยายามยกระดับขีดความสามารถทางโลจิสติกส์จีนให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ทั่ว จากการประสบผลสำเร็จดังกล่าวนั้นมาจากการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องและจริงจังของจีน ซึ่งเห็นได้ชัดจากนโยบายทางด้านการคมนาคมขนส่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 11 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มุ่งเน้นให้นครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของจีนดังจะเห็นได้จากการมีนครเซี่ยงไฮ้อยู่ในทุกแผนของการก่อสร้างโครงการคมนาคมต่างๆ
วัตถุประสงค์ในการศึกษา
- เพื่อศึกษาข้อมูลเส้นทางการขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพจากประเทศไทยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในรูปแบบ(Mode) ต่างๆ ได้แก่ ทางเรือ ทางถนน ทางราง และทางอากาศ ไปสู่เมืองที่เป็นทางผ่านสู่ตลาดศักยภาพของไทย
- เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบถึงต้นทุนการขนส่งสินค้า ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งรวมสินค้าที่ทำการขนส่ง จากประเทศไทยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
สรุปผลการศึกษา
แม้ว่าจีนจะลดภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าจากไทยหลายรายการตามข้อตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของวงจรการไหลของสินค้า การที่จีนยอมเปิดประตูการค้าโดยการลดภาษีนำเข้าให้นั้นเป็นเพียงการลดอุปสรรคในช่วงต้นของวงจรดังกล่าว เพราะการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดภายในของจีน ยังคงมีอุปสรรคสำคัญทั้งในช่วงกลางและช่วงปลายของวงจรการไหลของสินค้า โดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ภายในจีนที่ยังคงควบคุมโดยรัฐ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมไปถึงระบบค้าปลีกและค้าส่งที่จีนยังไม่ได้เปิดเสรี