ภายหลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จีนได้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของโลกและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ประเทศตะวันตกต่างมองว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแกนอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก จากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออก บทบาทของจีนในปัจจุบัน ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติสนใจและหลั่งไหลเข้าไปแสวงหาโอกาสการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทางด้านการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ รวมถึงมีตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศซึ่งแบ่งเป็นคลัสเตอร์อย่างชัดเจน โดยปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ต่างถูกส่งไปค้าขายหรือกระจายไปยังเมืองและประเทศต่างๆมากกว่า 300 ประเทศทั่วโลกผ่านเมืองอี้อูหรือศูนย์กลางการค้าส่งเมืองอี้อู มณฑล เจ้อเจียง
โดยพื้นฐานเมืองอี้อู เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในด้านการผลิตและขายส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าเบ็ดเตล็ดของเมืองนี้มีความหลากหลายและมีราคาถูก จึงดึงดูดนักธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปทำการค้าขายกันที่นี่ สินค้าจากเมืองนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกวันละกว่า 1,000 คอนเทนเนอร์ ยอดปริมาณการซื้อขายของตลาดอี้อูถูกจัดอยู่อันดับต้นๆของจีนต่อเนื่องกันนานถึง 14 ปี ปัจจุบันนี้ ตลาดแห่งนี้ยังเป็นศูนย์หมุนเวียนสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นฐานการส่งออกสินค้าที่สำคัญของจีน ศูนย์กลางการค้าส่งอี้อูหรือ Yiwu Model นับว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างเหนือความคาดหมายของประเทศจีนและจีนเองได้พยายามนำรูปแบบธุรกิจนี้เป็นต้นแบบ (Best Practice) ในการรุกคืบสู่ตลาดต่างๆในอาเซียนและประเทศอื่นๆทั่วโลกต่อไป
วัตถุประสงค์ในการศึกษา
- เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากโครงการจัดตั้งศูนย์ค้าส่งสินค้าไทย-จีน ต่อธุรกิจและส่งออกของประเทศไทย
- เพื่อเสนอแนะแนวทางป้องกันและทางรอดสำหรับผู้ประกอบการ
- เพื่อเสนอแนะกฎระเบียบที่ภาครัฐควรปรับปรุงและตระหนักถึงแนวทางปฏิบัติที่สำคัญและจำเป็นเพื่อปกป้องผู้ประกอบการไทย
- เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการไทยได้เตรียมตัวตั้งรับ ปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการรุกคืบของจีน
สรุปผลการศึกษา
โครงการศูนย์การค้าส่งออกนานาชาติไทย-จีน (Thai-China International City หรือ China City Complex) ภายใต้ "อี้อู โมเดล" (Yi Wu Model) ซึ่งมีเทคโนโลยีและวิธีคิดทางการค้าเชื่อมโยงกับทั่วโลก โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการไทยในฐานะผู้ผลิตเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตของสินค้าจีนและแรงงานที่ต่ำกว่า ในฐานะผู้ค้า ซึ่งตลาดค้าส่งของไทย เช่น โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ประตูน้ำ จตุจักร จะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของจีนอย่างรุนแรงและมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จนอาจสูญเสียการค้าไปในอนาคต และในฐานะผู้บริโภค จะได้บริโภคสินค้าราคาถูกและมีหลากหลาย หาซื้อได้ง่ายแต่อาจได้รับผลกระทบจากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ จากการวิเคราะห์มูลค่าผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย โดยคำนวณจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พบว่าหากมีการจัดตั้งศูนย์ค้าส่งสินค้าไทย-จีน จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำการศึกษา ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่ม อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ (เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าตกแต่งบ้าน) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป