ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เอเชียได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเป็นลำดับ ดังเห็นได้จากสัดส่วน GDP ของเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ต่อ GDP โลก เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเอเชียกำลังก้าวเข้ามาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลกตัวใหม่ ถนนทุกสายที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่เอเชียในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็น การค้าการลงทุน รวมถึงเงินทุน กำลังผลักดันทิศทางเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งเอเชียอย่างแท้จริง ซึ่งประเทศไทยควรต้องรู้จักใช้ ประโยชน์จารยุคสมัยแห่งเอเชียให้เต็มประสิทธิภาพ เพราะลำพังตลาดในประเทศไทยอย่างเดียว ซึ่งมีประชากร 0.9 % ของประชากรโลกขณะที่ GDP คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.46% ของ GDP โลก ไม่เพียงพอที่จะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มที่
กลยุทธ์ในการก้าวไปสู่การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community:AEC) รวมถึงการขยายไปสู่ อาเซียน+3 และ อาเซียน+6 จะยิ่งทำให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ได้มากขึ้นจุดมุ่งหมายหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การนำเอาอาเซียนไปสู่การตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีใน 5 สาขา ประกอบด้วยสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุน
วัตถุประสงค์ในการศึกษา
- เพื่อสร้างความรู้แนวทางการพัฒนาเตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดอาเซียนแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย
- เพื่อพัฒนาธุรกิจไทยในการเตรียมความพร้อมรองรับตลาด AEC และพร้อมขยายตลาดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้การเปิดเสรีภาคบริการโลจิสติกส์ ตาม กรอบ AEC
สรุปผลการศึกษา
การจัดทำโครงการครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้และแนวทางการพัฒนาเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดอาเซียนแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย และเพื่อประเมินศักยภาพของตลาด AEC สำหรับผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ไทย ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการเตรียมความพร้อมธุรกิจโลจิสติกส์สู่ตลาดอาเซียน +6 จึงเป็นการศึกษา วิเคราะห์ ประเมินศักยภาพธุรกิจ โลจิสติกส์ และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพและประสงค์จะลงทุนในตลาดอาเซียน มีการจัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับตลาด AEC และ แนวทางการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ไทยสู่ตลาดอาเซียน+6 ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ โดยจัดอมรมสัมมนาให้ผู้ประกอบการดังกล่าว เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการค้า การลงทุน กฎระเบียบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบ่มเพาะแก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการก้าวสู่ตลาด AEC ในอีก 4 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากการจัดอบรมสัมมนาและบ่มเพาะแก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ ทางทีมที่ปรึกษายังได้จัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ไทยสู่ตลาดอาเซียน +6 เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความประสงค์ที่จะดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศอาเซียน