วิศวะ ม.หอการค้าไทย คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบัญชีร้านค้าออนไลน์
นายรักษ์พล ทองมา นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิจัยเรื่อง “Data analytics ในบัญชีร้านค้าออนไลน์ เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลการขาย” เพื่อพัฒนาต่อจากร้านค้าออนไลน์ของตนเองและนำไปประกอบการตัดสินใจในการทำการตลาดหรือขยายสาขาด้านอื่นๆ ต่อไป สามารถคว้ารางวัลประเภทผลงานวิจัยดีเด่น ระดับชั้นปริญญาโท จากเวที TGGS STI Award 2019 (Master Level) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนผลงานที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 56 หัวข้อจากทั่วประเทศไทย
นายรักษ์พล ทองมา นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า…
“รู้สึกขอบคุณและดีใจมากครับกับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นครั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากความสนใจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีคนพูดถึงตัว Big Data , Data Analytics การวิเคราะห์ข้อมูล ก็ได้ยินอะไรพวกนี้มาเยอะประจวบเหมาะกับร้านค้าออนไลน์ที่ครอบครัวผมทำอยู่ในแต่ละเดือนมันจะมีข้อมูลทีเป็นข้อมูลการขายว่าเราขายอะไรไปบ้าง ขายได้เท่าไหร่ ขายให้กับที่ไหน ส่งผ่านอะไร วิธีการชำระเงินชำระอย่างไร โดยที่ทางร้านออนไลน์จะส่งข้อมูลสรุปพวกนี้อย่างละเอียดมาให้เราเป็นไฟล์ตารางข้อมูล
พอเรามองว่ามีข้อมูลตรงนี้เลยเลือกนำข้อมูลพวกนี้มาศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับร้านค้าออนไลน์ของเราเองรวมไปถึงร้านอื่นๆ ที่สนใจข้อมูลเหล่านี้ ด้านข้อมูลเชิงลึกที่เราได้รับมาทำให้ทราบว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะชอบใช้เงินสดมากกว่าบัตรเครดิต เหมือนกับว่าวิธีการชำระเงินในแต่ละครั้งที่ลูกค้าสั่งสินค้าจากร้านออนไลน์ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเลือกวิธีการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทางมากกว่าโอนผ่านบัญชีธนาคารมาก่อนแล้วจึงได้รับสินค้าที่หลัง หรือถ้าเรียงตามลำดับอันดับหนึ่งคือการชำระเงินปลายทางด้วยเงินสด
อันดับที่สอง คือ การชำระเงินโดยโอนผ่านบัญชีธนาคาร อันดับที่สาม คือ การชำระเงินโดยผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต แต่ในเรื่องของการขนส่งลูกค้าชอบเลือกใช้การขนส่งจากบริษัท Kerry มากกว่า 80% ส่วนจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าทั้งหมด 50% เป็นคนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ตามมาด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ แต่ถ้าเป็นภาคอีสานจำนวนการสั่งซ้อสินค้าที่มากที่สุดจะเป็นจังหวัดนครราชสีมา ตามมาด้วยจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี ภาคใต้อันดับหนึ่งเป็นจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นจังหวัดของเราเอง ตามมาด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต ภาคเหนืออันดับหนึ่งจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ตามมาด้วยจังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง”
“ข้อมูลเชิงลึกที่เรามองเห็นอีกอย่างหนึ่งคือการที่เราเปิดร้านค้าออนไลน์มันทำให้เราไม่ต้องจำกัดโซนในการค้าขาย แต่ถ้าเป็นร้านค้าในรูปแบบเดิมเราจะสามารถขายสินค้าได้แค่ในพื้นที่นั้นๆ แต่พอมีการค้าขายออนไลน์ลูกค้าจากภาคอื่นๆ ก็สามารถที่จะเข้ามาเลือกซ้อสินค้าของเราได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า หากผู้ใดไม่มีประสบการณ์การขายออนไลน์แนะนำให้ใช้บริการร้านค้าฝากสินค้าขายออนไลน์
ที่สำคัญวิธีการที่ดีที่สุดคือการซื้อโฆษณากับร้านออนไลน์นั้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ค้ารายใหม่และเก่าสามารถซื้อโฆษณากับร้านค้าออนไลน์ เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์นำสินค้าร้านของเราไปโฆษณาให้คนที่สนใจซื้อสินค้าที่ใกล้เคียงกับที่เรากดเข้ามาเยี่ยมชมและเลือกซ้อสินค้าออนไลน์ของเรา หลังจากนี้จะมีการนำผลงานวิจัยเอาไปต่อยอดด้านความคิดเห็น รีวิว ที่ลูกค้ามีต่อร้านไปเข้ากระบวนการเพื่อเรียนรู้ว่าความคิดเห็นนั้นๆ มีการแสดงอารมณ์บวกหรือลบต่อสินค้าออนไลน์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้หลังจากการวิเคราะห์มาดูว่าผลตอบรับที่ได้จากลูกค้าหรือผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ากับเรามีทิศทางบวกหรือลบ”
ที่มา: https://campus.campus-star.com/education/118800.html