126/1 ซอยวิภาวดีรังสิต 2 แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

งานบริการเพื่อสังคม

สถาบันวิจัยและพัฒนาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์บริการวิชาการแก่สังคม และเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติแก่อาจารย์ และนักศึกษาในหลักสูตร

โครงการจัดทำดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมพื้นฐาน
หน่วยงาน
ขอรับทุนวิจัยจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม
ปีพุทธศักราช
2551

        ระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยยังคงสูงอยู่  คือ อยู่ที่ระดับร้อยละ 19  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)  โดยในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ระดับร้อยละ 7-11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เช่น ญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับร้อยละ 11  สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับร้อยละ 9  และสาธารณรัฐสิงคโปร์อยู่ที่ระดับร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยปัญหาของอุตสาหกรรมของไทยมีหลายด้าน  อาทิ กฎหมาย  โครงสร้างพื้นฐาน  บุคลากร  เทคโนโลยีและฐานข้อมูล  และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ไม่เอื้ออำนวยล้วนส่งผลต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย

วัตถุประสงค์ในการศึกษา

        ศึกษากระบวนการและกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต กระบวนการจัดเก็บ การขนย้าย รวมไปจนถึงการส่งมอบไปยังลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนา และปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนนำเสนอ Best Practice การบริหารจัดการโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหรรมพื้นฐาน (เหล็ก และ เซรามิก) ทั้งนี้หนึ่งในผลผลิตโดยตรงจากการศึกษากระบวนการและกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ คือ ระยะเวลาในห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างต้นทุน และต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมเซรามิก ดังนั้นสำหรับโครงการในปี 2551 นี้ จะเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอุตสาหกรรมพื้นฐาน (ปี 2550) โดยนำต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมเซรามิกที่ได้  มาทำการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เพื่อศึกษาผลกระทบของปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำและเผยแพร่ดัชนีต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นรายเดือน และรายไตรมาส ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และเป็นข้อมูลทางสถิติที่ภาครัฐนำไปใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงประกอบการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และสังคม และเป็นประโยชน์สำหรับภาคเอกชน  ในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

สรุปผลการศึกษา

  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาทักษะ ความรู้และความชำนาญในการบริหารจัดการองค์กรตลอดจนระบบโซ่อุปทานและโลจิสติกส์
  • ส่งเสริมให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาระบบสารสนเทศฐานข้อมูล ตลอดจนการพัฒนาโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมพื้นฐาน