งาน IAPRI World Conference on Packaging ครั้งที่ 19 เป็นงานสัมมนาทางด้านวิชาการ และงานวิจัยทางด้านบรรจุภัณฑ์งานใหญ่ของโลก เจ้าภาพจัดงานในปีนี้คือมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จัดขึ้นในวันที่ 16-19 มิถุนายน 2557 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 25 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
งาน conference หรือที่เราเรียกว่างานสัมมนาวิชาการ ต่างกับงาน exhibition หรืองานแสดงสินค้า ตรงที่ว่าจะเน้นไปยังวิชาการล้วนๆ การตั้งสมมุติฐานวิจัย การทดสอบ ทดลอง การสรุปผลในเชิงวิทยาศาสตร์ มากกว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์อย่างเดียว งานลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมจะเป็น Guru นักวิจัยในหน่วยงานวิจัยบริษัทต่างๆ คณาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ นิสิตนักศึกษา ตัวแทนผู้ประกอบการจากบริษัทใหญ่ๆของโลก เช่น PepsiCo, Nestle และผู้สนใจบรรจุภัณฑ์ในมุมมองแบบวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของโลกที่อยากมาสังเกตการและนำเสนอผลงานใหม่ๆที่ยังไม่ได้ออกเป็นเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีบางอย่างใหม่กว่าเทคโนโลยีที่จะออกในงานแสดงสินค้า
เป็นประเด็นที่วิทยากรหลัก (Key Note Speakers) มาบรรยาย ได้แก่ ประเด็นเรื่องของ Food lost and waste หรือการสูญเสียอาหารที่เป็นประเด็นเดียวกับทาง UNESCO กำลังรณรงค์ ประเด็นเรื่องการเพิ่มคุณค่าของตัวบรรจุภัณฑ์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน
Packaging today สตรอเบอรี่ญี่ปุ่นกล่องหนึ่งราคาประมาณ300 บาทที่ญี่ปุ่น มาเมืองไทยขายได้ 800 บาท ขายในห้างขายดิบขายดี เมื่อก่อนใส่กล่องกระดาษแล้วเอาสายรัด ของเสียประมาณ 30% คนญี่ปุ่นทำวิจัยลดของเสีย เปลี่ยน package ใหม่ใส่ในกล่องแทน ของเสียลดลง ประหยัดขึ้น กำไรขึ้น ทุเรียน มังคุด เงาะ บ้านเราน่าเอาไปทำวิจัยบ้าง
งานวิจัยหลักในงานสัมมนาปีนี้ได้แก่
- บรรจุภัณฑ์แบบแอคทีฟและอัจฉริยะ (Active & Intelligent Packaging) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ เรื่องของสีที่ไว้ตรวจสอบคุณภาพอาหาร
- บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Distribution Packaging) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ เรื่องของวัสดุใหม่ๆ ที่นำมาใช้ทำวัสดุรองรับแรงกระแทกสำหรับการขนส่ง เช่น โฟมแบบย่อยสลายได้ แบบจำลองเส้นทางการขนส่งเพื่อใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ วิธีการทดสอบแบบใหม่ๆเพื่อให้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ทดสอบผ่านมีความเสียหายน้อยที่สุด
- โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (Logistics & Supply Chain) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบโลจิสติกส์และกรณีศึกษาของการขนส่งชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงธุรกิจการซ่อมพัลเลทในประเทศอเมริกา
- การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การยศาสตร์ ปัจจัยมนุษย์ (Packaging Design, Ergonomics & Human Factors) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ การเปิดง่ายใช้สะดวกทางด้านบรรจุภัณฑ์ การใช้กล้องสแกนสายตามนุษย์กับบรรจุภัณฑ์ที่วางอยู่บนชั้นสินค้า เพื่อดูว่าการตอบสนองบรรจุภัณฑ์ตัวใดโดนใจมากที่สุด
- บรรจุภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง (Medical, Cosmetic & Pharmaceutical Packaging) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ การทำมาตรฐานค่าแรงในการเปิดบรรจุภัณฑ์ยาประเภท PTP
- กราฟฟิคและการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ (Packaging Printing & Graphics) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ การพิมพ์บาร์โค๊ดลงบนกระดาษลูกฟูกเพื่อให้มีความคมชัด สิ่งพิมพ์ป้องกันการปลอมแปลง
- บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเกษตรกรรม (Packaging for Food & Agriculture) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ สายการผลิตบรรจุภัณฑ์ถาดแบบอัจฉริยะ สามารถปรับเปลี่ยนโมลด์เองได้ ทำให้ไม่ต้องทำโมลด์ใหม่ และเรื่องไมเกรชั่น
- วัสดุบรรจุภัณฑ์และ (Packaging Materials) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ การศึกษาวัสดุรับแรงกระแทกต่างๆ การศึกษาความเร็วของการให้อุณหภูมิในการผนึกความร้อน วัสดุย่อยสลายได้แบบใหม่ๆ
- เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน (Sustainability Packaging) งานวิจัยเด่นๆได้แก่ แนวโน้มการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของโลก คุณลักษณะของพลาสติก PLA
หัวข้อที่เป็นประเด็นร้อนในงานนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน Sustainable Packaging และ การบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง Distribution Packaging เนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปมีการขนส่งสินค้าส่งออกมากปริมาณมาก จึงมีความจำเป็นต้องหาวัสดุทดแทนใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาถูก และสามารถใช้งานได้ดี วัสดุฟองน้ำแบบใหม่ นำมาติดที่มุมกระจกขนาด 1x1.5 เมตรโดยประมาณ แม้นเอามาทำวัสดุรองรับกระจก ปล่อยทดสอบโดยปล่อยให้ตกกับพื้นในระดับความสูง 1 เมตร กระจกยังไม่แตก
ในวันสุดท้ายของการสัมมนา จะเป็นการลง workshop ทางด้าน distribution packaging เพื่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยให้สินค้าเสียหายน้อยที่สุด โดยใช้เซ็นเซอร์วัด G มาติดตั้งที่ตัวรถเพื่อดูข้อมูลคุณลักษณะต่างๆเช่น ความเร็ว ความเร่ง เวลา อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และนำมาทดสอบบรรจุภัณฑ์ว่าสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมตามการออกแบบหรือไม่
งานวิจัยที่สำคัญของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ออสเตรเลียทางด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งคือ การขนส่งฟอสซิลไดโนเสาร์ซึ่งมีชิ้นเดียวในโลก มูลค่านับไม่ได้เป็นสมบัติชาติ มีความเสี่ยงใดๆในการขนส่งไม่ได้เลย โดยใช้ถนนจากซิดนีย์มาเมลเบิร์น ซึ่งจะได้ต้องมั่นใจว่าการขนส่งจะต้องปลอดภัยฟอสซิลต้องไม่เสียหาย ด้านซ้ายมือเป็นรูปของกราฟตอนสนองของสภาพถนนกับตัวรถที่ได้จากเซ็นเซอร์วัดแรง G ที่ติดตั้งที่ตัวรถนำไปทดสอบวิ่งในเส้นทางจริงรถยนต์จริง เมื่อได้ลักษณะของแรง G แรงกระแทกระหว่างรถกับถนนที่เกิดขึ้น นำมาวิเคราะห์แล้วใช้เทคนิคคณิตศาสตร์ขั้นสูง Fourier Transform วิเคราะห์หาลักษณะของลักษณะรูปคลื่น Waveform เพื่อนำไปทำ Simulation โดยเอาข้อมูลเข้าโต๊ะเขย่าไฮดรอลิกส์ตามแรงที่ได้จากการวัดด้วยเซ็นเซอร์ แล้วนำบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาทดสอบกับชิ้นฟอสซิลจำลองด้วยเครื่องเขย่าตามแรงที่วัดได้จากเซ็นเซอร์แล้วนำผลมาวิเคราะห์ จนกว่าจะมั่นใจว่าการขนส่งสมบูรณ์ซากฟอสซิลไม่เสียหาย บ้านเราเจออะไรอย่างดีก็เอามือยกอย่างเดียว ร่วงบ้างหล่นบ้างก็เสียหายไปก็ตามมีตามเกิด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในงานสัมมนาวิชาลักษณะแบบนี้ จะเน้นไปยังนวัตกรรม มีหลายมหาวิทยาลัยที่ไปเสนอผลงาน เช่นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ NECTEC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่บริษัทต่างๆในเมืองไทยยังมีจำนวนผลงานไปนำเสนอและไปฟังค่อนข้างน้อย เพราะเนื้อหาค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์มาก มีแต่บริษัท SCG ที่มีความสามารถในการทำงานวิจัย ไปนำเสนอผลงานได้ งานวิจัยในงานนี้หลายๆชิ้นอยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร เพื่อรอการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งผิดจากงานวิจัยในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะไม่เน้นขาย มักถูกขึ้นหิ้ง และเน้นไปยังการขอตำแหน่งทางวิชาการ การร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยบ้านเรายังมีน้อยอยู่ บรรยากาศการทำวิจัย คงเกิดได้ยากในบ้านเรา เพราะบ้านเราการทำ R&D เชิงพาณิชย์ยังน้อยมาก เน้นไปทางด้านการค้าขายมากกว่า ผมก็หวังว่าบ้านเราต่อไปในอนาคตจะมีงานวิจัยเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น