126/1 ซอยวิภาวดีรังสิต 2 แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

ผศ.ดร.วันชัย ฉิมฉวี ได้รับเชิญให้ไปออกรายการทางช่องเดลินิวส์ทีวี

ผศ.ดร.วันชัย ฉิมฉวี ได้รับเชิญให้ไปออกรายการทางช่องเดลินิวส์ทีวี

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ด้านพลังงาน นับจากนี้ไป มีแต่จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ  แม้ทั้ง 10 ชาติจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี  ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาพลังงานจะลดลงหรือมีราคาเท่าเทียมกัน เพราะแต่ละประเทศต่างมีพื้นฐานทางกายภาพโดยเฉพาะแหล่งผลิต “พลังงานทดแทน” ที่แตกต่างกัน

นี่คือคำยืนยันจาก “ผศ.ดร.วันชัย ฉิมฉวี” อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ตอกย้ำสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ ผ่านรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่เห็นว่าไทยยังไม่เข้มแข็งในด้านพลังงานและต้องนำเข้าเชื้อเพลิงมาจากต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าการใช้พลังงานกลับไม่มีการตระหนักกันถึงคุณค่าของ “พลังงาน” กันเท่าใดนัก

ปัจจุบันประเทศสมาชิกเออีซี ที่มีความเข้มแข็งด้านพลังงานมากที่สุดคือ…อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมถึงพม่าเพราะมีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง จึงกำหนดราคาเองได้ ขณะที่ไทย...ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการหาแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อเข้าสู่เออีซีแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่มีโอกาสเสียเปรียบประเทศอื่น และต้องเปิดเวทีเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก รวมทั้งหาจุดที่เหมาะสมของราคาพลังงานแต่ละประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไทยได้เปรียบในด้านพลังงานคือ บุคลากรที่มีองค์ความรู้ ความสามารถ ที่สามารถพัฒนาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องเร่งพัฒนาให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันให้มากขึ้น การมีมุมมองใหม่ ๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อไว้ “รุกและรับ” เมื่อมีโอกาส หรือเกิดวิกฤติ ดังนั้นจากนี้ไปรัฐต้องเร่งหาผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชาสัมพันธ์ กระตุ้นให้ประชาชนทราบถึงทิศทางพลังงาน การดำเนินงานต่าง ๆ การให้ความรู้ การบริหารจัดการ ความร่วมมือในชุมชนด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพียงแค่ใช้งบประมาณหมดไปกับการทำประชาสัมพันธ์เพียงเท่านั้น

ผศ.ดร.วันชัย บอกว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีก่อนเคยประเมินไว้ว่า ณ วันนี้ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 2 ลิตร 100 บาท หรือลิตรละ 50 บาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำมันราคาลิตรละ 40 บาทเศษ  ซึ่งถือว่า “โชคดี” เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย จึงทำให้ราคาและการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชะลอตัวลงตามไปด้วย...แต่สุดท้ายถ้าเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ อีก 5 ปีข้างหน้า อาจมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 3 ลิตร 200 บาท หรือเฉลี่ยลิตรละเกือบ 75 บาท จากช่วง 30 ปีที่ผ่านมาราคาเพียงลิตรละ 10 บาทเท่านั้น

ที่สำคัญ ถ้าไทยยังไม่มีการหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน จะยิ่งเกิดความยากลำบาก เพราะเมื่อประเทศผู้ขายน้ำมันปรับขึ้นราคาน้ำมันตามใจชอบ ขณะที่ไทยไม่มีแหล่งพลังงานทดแทนของตัวเอง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ว่าประเทศผู้ขายจะขายแพงเท่าใด ไทยต้องนำเข้าพลังงานอยู่ดี คำถามสำคัญ? หากไทยไม่มีเงิน ... แล้วจะทำอย่างไร

ผศ.ดร.วันชัย เล่าให้ฟังอีกว่า ในเมื่อเวลานี้ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในฐานะที่ไม่ค่อยดีนัก การใช้น้ำมันหรือเชื้อเพลิงยังมีไม่มากนัก ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ที่ต้องเร่งหาแหล่งพลังงานสำรองของประเทศเอง โดยเฉพาะจาก “เชื้อเพลิงชีวภาพ” หรือก๊าซที่ได้จาก “มูลสัตว์”  ที่ถือว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน เดิมแต่ละบ้านเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งาน หรือทำเป็นอาหารได้ แล้วทำไม? จึงไม่คิดเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมูลสัตว์เหล่านั้นมาผลิตพลังงานทางเลือก ที่เชื่อว่าทำได้ดีแน่นอน เพราะเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่สามารถหาได้โดยอิงอยู่กับอาชีพของคนไทยที่ประกอบอาชีพกันเป็นปกติอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์เซลล์” ที่เป็นพลังงานทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาทดแทนน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเวลานี้รัฐจะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับภาคครัวเรือนด้วยเช่นกัน เพื่อจูงใจให้แต่ละบ้านติดตั้งแผงโซลาร์ ลูฟท์ โดยมีหน่วยงานกลางคอยอำนวยความสะดวก เมื่อได้พลังงานมา ก็รับซื้อในราคาที่เหมาะสม

สิ่งเหล่านี้....ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องเข้ามาส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเชื่อว่าในอนาคตไทยจะไม่เดือดร้อนแน่นอน เพราะหากเกิดวิกฤติด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเดือน เม.ย. ที่พม่าได้ปิดซ่อมท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้ไทยอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี  หรือเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในตลาดโลกจนส่งผลกระทบวิกฤติน้ำมันในไทย ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะมีแหล่งพลังงานทดแทนสำรองไว้อยู่แล้ว

ผศ.ดร.วันชัย ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า แม้ว่า ณ วันนี้ ไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาตามเดิม ซึ่งคนไทยทั้งประเทศ...ต้องตระหนักให้มาก ถึงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หากช่วยกันประหยัด ขณะเดียวกันก็ช่วยกันพัฒนาแหล่งผลิตเชื้อเพลิงทดแทนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากโซลาร์ เซลล์ หรือจากเชื้อเพลิงชีวภาพก็ตาม ก็เท่ากับว่าไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า...ไทยจะสามารถก้าวไปพร้อม ๆ กับประเทศอื่นได้โดยไม่ล้าหลัง ถอยหลัง ย่ำอยู่ที่เดิม! เหมือนปัจจุบัน.

ณัฐธินี มณีวรรณ
http://www.dailynews.co.th/businesss/228933

สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน
28 สิ่งหาคม 2556